ท่าเรือแหลมฉบัง


         วัตถุประสงค์สำคัญของการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับเรือขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเข้าเทียบทาที่ท่าเรือกรุงเทพได้ และเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก และการส่งเสริมการส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต
          แนวความคิดที่ว่าประเทศไทยควรจะสร้างท่าเรือพาณิชย์ขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2491 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป . พิบูล สงคราม เนื่องจากรัฐบาลตระหนักว่าท่าเรือกรุงเทพมีลักษณะเป็นท่าเรือซึ่งจะไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ
ในระยะยาวได้อย่างเต็มที่ ได้มีการพิจารณาจะสร้างท่าเรือพาณิชย์ที่ศรีราชาเพื่อประโยชน์ทางการค้า อย่างไรก็ดีโครงการก่อสร้างท่าเรือที่ศรีราชาถูกระงับไปในเวลาต่อมา

          กระทั่ง พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาเนเดโกแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ มาสำรวจการตกตะกอนในร่องน้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา และสำรวจความเหมาะสมทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่ศรีราชา เนเดโกได้เสนอรายงานว่า พื้นที่บริเวณแหลมฉบังเป็นพื้นที่เหมาะแก่การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เนื่องจากอยู่ตอนในอ่าวไทยคลื่นลมน้อย ดินใต้พื้นทะเลเป็นทรายขุดลอกไม่ยาก และใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างได้ อีกทั้งยังมีพื้นที่ราบชายฝั่งสำหรับขยายเป็นพื้นที่หลังท่าเรือได้มากด้วยแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อการก่อสร้างท่าเรือในขณะนั้น
ในระหว่างปี พ.ศ. 2509 - 2512 ได้มีการก่อสร้างท่าเรือสัตหีบเพื่อประโยชน์ทางการทหารของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาท่าเรือแห่งนี้ได้โอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทย เมื่อปี พ.ศ. 2515
          ในปี พ.ศ. 2516 บริษัทหลุยส์เบอร์เจอร์ได้รายงานต่อกระทรวงคมนาคมว่า การลงทุนเพื่อพัฒนาท่าเรือสัตหีบให้เป็นท่าเรือพาณิชย์นั้นเหมาะสมกว่าการลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่แหลมฉบัง
          อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมก็มีความเห็นว่า การพัฒนาท่าเรือสัตหีบให้เป็นท่าเรือพาณิชย์จะประสบปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดัย ความคล่องตัวในการดำเนินงานท่าเรือ ตลอดจนถึงการลงทุนและการขยายท่าเรือในอนาคต ฯลฯ ฉะนั้นจึงเห็นควรให้สร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เพราะสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพและให้ผลประโยชน์แก่ประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างมาก คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เห็นชอบในหลักการให้สร้างท่าเรือทะเล เพื่อการพาณิชย์ที่แหลมฉบัง แต่หลังจากนั้น เนื่องจากประเทศไทยประสบกับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลยังไม่สามารถจัดสรรเงินทุนเพื่อการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังให้ทันกับความต้องการของปริมาณสินค้าที่มีมากจนคับคั่งที่ท่าเรือกรุงเทพได้ จึงได้มีมติใหม่ให้พัฒนาท่าเรือสัตหีบเป็นท่าเรือพาณิชย์ก่อน โดยเตรียมดำเนินงานเพื่อการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังไว้ด้วย

          ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบล ทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และ ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 ขึ้น เพื่อตระเวนคืนที่ดินในท้องที่ดังกล่าว รวมทั้งหมดประมาณ 6,340 ไร่ โดยเป็นการเวนคืนที่ดินของทางราชการ และที่ราษฎรเพื่อให้มาเป็นทรัพย์สินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย สำหรับใช้ในการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังต่อไป
          สำหรับการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2522 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้หน่วยงานท่าเรือพาณิชย์สัตหีบมีฐานะเป็นส่วนงานหนึ่งของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับท่าเรือกรุงเทพ โดยมีคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประทศไทยเป็นผู้กำหนดนโยบายควบคุมการดำเนินกิจการและให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการที่จำเป็นทุกประการ ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2522

          คณะรัฐมนตรีได้ประชุมพิจารณาถึงความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง และการก่อตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณแหลมฉบังอีกหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 จึงได้มีมติให้เร่งรัดการพัฒนาท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง สำหรับบริการสินค้าทั่วไป สินค้าบรรจุตู้ สิค้าเกษตรกรรมบางประเภท และส่งเสริมการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขนาดเบาที่ไม่มีปัญหาต่อสภาวะแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถเริ่มใช้งานได้ระยะแรกภาย  ในปี พ.ศ. 2530-2533 และยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกขึ้นดำเนินงานนี้ด้วย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเพื่อรับผิดชอบดูแลการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลตะวันออกโดยเฉพาะท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง

          ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2526 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมเจรจาขอรับเงิน้จากรัฐบาลญี่ปุ่น สำหรับการสำรวจออกแบบ การควบคุมงานก่อสร้าง และการก่อสร้างตามโครงการท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง และให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินบาทสมทบ ทั้งจากรายได้ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยและจากงบประมาณเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อโครงการ
          ปี พ.ศ. 2527 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา PAAS Consortium ให้เป็นผู้ออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม เพื่อการก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง การออกแบบแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2529

          ปี พ.ศ. 2530 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าจ้าง PAAS Consortium ให้เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างพร้อมทั้งคัดเลือกให้กลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทย , Daiho, Daito Kogyo และ Dredging International เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโดยได้ ลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน และเริ่มลงมือก่อสร้างในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน
          วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ท่าเรือพาณิชย์แหลมบัง โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูสานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี
          ปี พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังเป็นท่าเรือแห่งใหม่ ภายให้พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประทศไทย พ.ศ. 2494 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรบริหารท่าเรือแห่งนี้ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ว่าจ้างเอกชนเข้าร่วมประกอบการท่าเทียบเรือได้ด้วย
          โครงการท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 1 ได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2530 แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ B1 เป็นท่าแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2534 โดยรัฐบาล มีนโยบายให้ เอกชนเข้าร่วมลงทุน บริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือของท่าเรือแหลมฉบัง